






















google map


”พิจิตร” แปลว่า “งาม” เมื่อกล่าวถึงเมืองพิจิตรหมายถึงเมืองงาม เมืองที่มีเสน่ห์ประทับใจ นอกจากนี้ยังเป็นเมืองที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ คือ เป็นที่ประสูติของพระเจ้าเสือหรือ “พระศรีสรรเพชญ์ที่ 8” พระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงศรีอยุธยาและเป็นเมืองที่ให้กำเนิดนักปราชญ์ราชบัณฑิต คือ พระโหราธิบดี บิดาของศรีปราชญ์
จังหวัดพิจิตรเป็นจังหวัดเก่าแก่มากจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย มีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี เชื่อกันว่าเจ้ากาญจนกุมาร (พระยาโคตระบอง) โอรสพระยาโคตมเทวราช เป็นผู้สร้างเมือง เหนือฝั่งแม่น้ำน่านในปี พ.ศ. 1601 เดิมมีหลายชื่อ คือ เมืองสระหลวง เมืองโอฆะบุรี เมืองชัยบวรและเมืองปากยม ดินแดนอันเป็นเขตจังหวัดพิจิตรอยู่ในที่ราบลุ่มตอนใต้ของภาคเหนือในดินแดนสุวรรณภูมิบริเวณนี้เป็นบริเวณที่ลำน้ำยมและลำน้ำน่านไหลผ่าน ลักษณะพิเศษของดินแดนจังหวัดพิจิตรเดิมเต็มไปด้วยห้วย หนอง คลอง บึง พื้นดินจังหวัดพิจิตร เป็นดินอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเกษตร เพราะเป็นดินตะกอนที่เกิดจากน้ำท่วมทับถมทุกปี มีปลาชุกชุม
ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อเปลี่ยนการปกครองเป็นแบบจตุสดมภ์และแบ่งหัวเมืองออกเป็นเมือง เอก โท ตรี จัตวา เมืองพิจิตรมีฐานะเป็นเมืองตรี มีความสำคัญทางทหารและการปกครองมาก ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงพระราชนิพนธ์คำกลอนเรื่อง “ไกรทอง” โดยใช้เมืองพิจิตรเป็นแหล่งกำเนิดเรื่องราว เนื่องจากเมืองพิจิตร เป็นเมืองที่มีแหล่งน้ำมากมายและมีจระเข้ชุกชุมนั่นเอง ในปี พ.ศ. 2435 กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้นำรูปแบบการปกครองระบบ เทศภิบาลใช้และได้จัดตั้งมณฑลพิษณุโลก เป็นมณฑลแรกประกอบด้วย 5 เมือง คือ เมืองพิษณุโลก เมืองพิชัย เมืองนครสวรรคโลก เมืองสุโขทัย และเมืองพิจิตร


มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แบ่งเป็น 5 แถบ ใช้สีเขียวเข้ม 3 แถบ สลับด้วยสีขาว 2 แถบ
ประกอบด้วยสระและต้นโพธิ์ สระ หมายถึง เมืองสระหลวง ซึ่งเป็นชื่อเดิมของจังหวัด ตามพงศวดารเหนือ กล่าวว่าเมืองนี้เป็นเมืองโบราณสมัยขอมและเป็นหัวเมืองเอกตั้งแต่กรุงสุโขทัย มีพญาโคตระบองเป็นผู้สร้างเมือง ต้นโพธิ์ หมายถึง วัดโพธิ์ประทับช้าง ซึ่งเมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเสด็จพระราชดำเนินกลับจากสงครามเมืองเชียงใหม่ ได้นำราชธิดาเมืองเชียงใหม่มาด้วย และพระราชทานให้แก่พระเพทราชา เมื่อกองทัพหยุดทัพ ณ ที่แห่งนี้ พระนางได้ประสูติเด็กชายใต้ต้นมะเดื่อ บิดาจึงให้นามว่า "เจ้าเดื่อ" ต่อมาได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินครองกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามว่า "สมเด็จพระศรีสรรเพชญ์ที่ 8" หรือพระเจ้าเสือ หรือขุนหลวงสรศักดิ์ ระหว่างครองกรุงศรีอยุธยานั้นพระองค์ได้เสด็จมาคล้องช้างเมืองพิจิตร เลยไปเยี่ยมมาตุภูมิเดิมที่หมู่บ้านโพธิ์ประทับช้าง โปรดเกล้า ฯ ให้สร้างพระอารามขึ้นที่ตำบลโพธิ์ประทับช้าง


